วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เครื่องสำอางมีสารอันตราย

อย.ประกาศเพิ่มอีก 3 ยี่ห้อ เครื่องสำอางมีสารอันตรายทำหน้าพัง ล่าสุดจาก อย. ประกาศเพิ่มเดือนสิงหาคม
อย.ประกาศเพิ่มอีก 3 ยี่ห้อ เครื่องสำอางมีสารอันตรายทำหน้าพัง

อย. ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารห้ามใช้ สาเหตุทำหน้าพัง ประกาศเพิ่มอีก 3 ยี่ห้อ จากเดิมที่ประกาศไปแล้ว 87 ยี่ห้อ แนะผู้บริโภคก่อนซื้อเครื่องสำอางควรอ่านฉลากที่มีรายละเอียดชัดเจน เช่นชื่อผู้ผลิต ส่วน-ประกอบและวิธีใช้ พร้อมเตือนร้านค้าหากนำเครื่องสำอางผิดกฎหมายมาจำหน่ายจะดำเนินการตามกฎหมาย อย่างเข้มงวดนพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางตามแหล่งจำหน่าย เช่น ร้านค้า และแผงลอย ส่งตรวจวิเคราะห์หาสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งในปีงบประมาณ 2550 นี้ อย.ได้ประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์เครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ไปแล้วรวม 87 ยี่ห้อ และในครั้งนี้ได้ตรวจพบเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้เพิ่มอีก 3 ยี่ห้อ โดยตรวจพบกรดเรทิโนอิกหรือกรดวิตามินเอ ปรอท-แอมโมเนียหรือสารประกอบของปรอท และไฮโดรควิโนน นอกจากนี้ตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงฉลากไม่ถูกต้อง บางผลิตภัณฑ์ไม่มีการระบุผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เลขที่ผลิต วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุ โดยรายชื่อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ เครื่องสำอางยี่ห้อ BAOJU WHITENING CREAM NIGHT CREAM พบกรดเรทิโนอิก ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิต , ยี่ห้อ J Leena Serum มุกหน้าใส-เด้ง (เช้า2) พบปรอทแอมโมเนีย ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิตและวันที่ผลิต , ยี่ห้อ J Leena Serum WHITENING ZERUM (เย็น 1) พบไฮโดรควิโนน ฉลากไม่ระบุผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ไม่มีเลขที่ผลิตและวันที่ผลิต

นพ.มรกต กรเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวมาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารห้ามใช้ เนื่องจาก กรดวิตามินเอ อาจทำให้เกิดอาการหน้าแดง แสบ-ร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ปรอทแอมโมเนีย อาจทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะและไตอักเสบ และไฮโดรควิโนน อาจทำให้ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย นอกจากนี้เมื่อจะซื้อขอให้สังเกตฉลากเป็นลำดับแรก ซึ่งฉลากที่ถูกต้องจะต้องมีภาษาไทย มีข้อความบังคับ-ครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ และควรเลือกซื้อจากบริษัทหรือร้านที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรซื้อเพราะคำโฆษณา

สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางมาจำหน่ายจะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และมีหลักฐานการ-ซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน และขออย่าได้นำเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาจำหน่าย หากเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยผู้ขายจะต้องมีความผิดเช่นเดียวกับผู้ผลิต ส่วนบทลงโทษผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้นำเข้าเพื่อขาย และผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีของผู้ขายหากรู้ต้นตอแหล่งผลิตให้แจ้งทางราชการทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ดำเนินการกวาดล้างเครื่องสำอางอันตรายให้หมดไป

ไม่มีความคิดเห็น: