วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2551

มารยาทในการฟัง

ความหมายของการฟัง
การฟัง หมายถึงการรับสาร หรือเสียงที่ได้ยินทางหู การฟังอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีมารยาทและรู้จักพินิจพิเคราะห์เนื้อหาของสาร ที่รับว่ามีข้อเท็จจริง อย่างไร รู้จักจับใจความสำคัญ ใจความย่อย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้รับสาร ได้ประโยชน์จากการฟังอย่างเต็มที่

การฟังต้องมีจุดมุ่งหมาย
ในการฟังเรื่องใด ๆ ก็ตาม ผู้ฟังควรตั้งจุดมุ่งหมาย ในการฟัง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ
1) ฟังเพื่อความรู้ ได้แก่ การฟังเรื่องราวที่เป็นวิชาการ ข่าวสารและข้อแนะนำต่าง ๆ การฟังเพื่อความรู้ จำเป็นต้องฟังให้เข้าใจและจดจำสาระสำคัญให้ได้
2) ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน คือ การฟังเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดจากภารกิจการงานและสิ่งแวดล้อม
3) ฟังเพื่อให้ได้รับคติหรือความจรรโลงใจ คือ การฟังเรื่องที่ทำให้เกิดแนวคิด และสติปัญญา เกิดวิจารณญาณ ขัดเกลาจิตใจให้มีคุณธรรม การฟังประเภทนี้ต้องรู้จักเลือกฟัง และเลือกเชื่อในสิ่งที่ถูกที่ควรซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟัง มีคติในการดำเนินชีวิตไปในทางดีงาม และรู้จักสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคม
การฟังทั้ง 3 ประการ อาจรับฟังได้จากสื่อต่าง ๆ เช่น
วิทยุ โทรทัศน์ การประชุม ปาฐกถา ฯลฯ นอกจากนี้การฟังในแต่ละครั้ง ผู้ฟังอาจได้รับประโยชน์ทั้ง 3 ด้าน หรือด้านใด ด้านหนึ่ง เฉพาะด้านซึ่งเป็นการฟังเพื่อประโยชน์ของตนเอง
มารยาทในการฟัง
ผู้มีมารยาท ในการฟังควรปฏิบัติตน ดังนี้
1. เมื่อฟังอยู่เฉพาะหน้าผู้ใหญ่ ควรฟังโดยสำรวมกิริยามารยาท ฟังด้วยความสุภาพเรียบร้อย และตั้งใจฟัง
2. การฟังในที่ประชุม ควรเข้าไปนั่งก่อนผู้พูดเริ่มพูด โดยนั่งที่ด้านหน้าให้เต็มก่อนและควรตั้งใจฟังจนจบเรื่อง
3. จดบันทึกข้อความที่สนใจหรือข้อความที่สำคัญ หากมีข้อสงสัยเก็บไว้ถามเมื่อมีโอกาสและถามด้วยกิริยาสุภาพ เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม หรือยกมือขึ้นขออนุญาตหรือแสดงความประสงค์ในการซักถาม ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ และไม่ถามนอกเรื่อง
4. มองสบตาผู้พูด ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูด และไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะที่ฟัง หรือนำอาหารเครื่องดื่มเข้าไปรับประทานระหว่างฟัง
5. ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับผู้พูด แสดงสีหน้าพอใจในการพูด ไม่มีแสดงกิริยาก้าวร้าว เบื่อหน่าย หรือลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะฟัง
6. ฟังด้วยความสุขุม ไม่ควรก่อความรำคาญให้บุคคลอื่น ควรรักษามารยาทและสำรวมกิริยา ไม่หัวเราะเสียงดังหรือกระทืบเท้าแสดงความพอใจหรือเป่าปาก
7. ฟังด้วยความอดทนแม้จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้พูดก็ควรมีใจกว้างรับฟังอย่างสงบ
8. ไม่พูดสอดแทรกขณะที่ฟัง ควรฟังเรื่องให้จบก่อนแล้วค่อยซักถามหรือแสดงความคิดเห็น
9. ควรให้เกียรติ
วิทยากรด้วยการปรบมือ เมื่อมีการแนะนำตัวผู้พูด ภายหลังการแนะนำ และเมื่อวิทยากร พูด จบ

ไม่มีความคิดเห็น: