วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ก๊าซธรรมชาติในไทย

ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมีเท่าใด ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมีเท่าใดแน่ ถ้าถามออกไปว่า ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยมีมากน้อยเท่าใด จะใช้ได้อีกกี่ปี ท่านคงได้คำตอบกลับมาหลากหลาย ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าหมดใน 18 ปี อีกฝ่ายก็บอกว่ามีใช้ได้ 50 ปี ถึงเวลานั้นก็มีเทคโนโลยีพลังงานประเภทอื่นมาทดแทนแล้ว จริงแล้วปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ที่มีการกล่าวอ้างถึงนั้น พอแยกได้เป็น 3 ระดับ คือ
Proved Reserve คือ ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว มีความมั่นใจที่จะผลิตได้ในอนาคตจากแหล่งสำรวจที่พบแล้ว ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น โดยทั่วไปมีความน่าจะเป็นเกินกว่า 90% Probable Reserve คือ ปริมาณสำรองที่มีความเชื่อมั่นและเป็นไปได้ในการผลิตได้ในอนาคตจากแหล่งสำรวจที่พบแล้ว ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น โดยทั่วไปมีความน่าจะเป็นเกินกว่า 50% Possible Reserve คือ ปริมาณสำรองที่เป็นไปได้หรืออาจจะเป็นในการผลิตได้ในอนาคตจากแหล่งสำรวจที่พบแล้ว ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนั้น แต่มีความเชื่อมั่นและเป็นไปได้ในการผลิตเกินกว่า 10% ทั้งนี้การนำไปใช้งาน จะแบ่งเป็น
1P เฉพาะปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว
2P ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว รวมกับ Probable Reserve
3P ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว รวมกับ Probable Reserve และ Possible Reserve

จากข้อมูลปริมาณการสำรองก๊าซธรรมชาติในประเทศของกรมทรัพยากรธรณี ณ 31 ธันวาคม 2543 โดยแหล่งสำรองก๊าซฯ ในประเทศไทยจะประกอบด้วย แหล่งอ่าวไทย ซึ่งรวมพื้นที่คาบเกี่ยว ไทย – มาเลเซีย แหล่งที่ราบสูงโคราช และแหล่งที่ราบภาคกลาง หากเป็นสำรอง 1P จะมีปริมาณ 12.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต 2P จะมีปริมาณ 22.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และ 3P จะมีปริมาณ 33.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย ได้แก่ พม่า (แหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุน) ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าจากสหภาพพม่าวันละ 2,000ล้านลูกบาศก์ฟุต และในอนาคตก็อาจรับซื้อจากที่อื่น ได้แก่ เวียดนาม และพื้นที่คาบเกี่ยวไทย – กัมพูชา โดยปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ในส่วนที่สามารถพัฒนานำมาใช้ในประเทศไทยได้อยู่ในระดับ 9.5 – 19.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

สำหรับข้อมูลปริมาณสำรองก๊าซฯ 1P ในประเทศ เป็นปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว มีความแน่นอนมากที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงแหล่งพลังงานในประเทศว่ามีมากน้อยเพียงใด ในการคำนวณอายุการใช้งานของก๊าซธรรมชาติ จะคำนวณโดยนำปริมาณสำรองก๊าซฯ มาหารด้วยปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งนี้ปริมาณสำรองก๊าซฯ จะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้นิยามปริมาณสำรอง 1P 2P หรือ 3P โดยในการวางแผนมักจะใช้ 1P หรือ 2P เพราะค่อนข้างมีความแน่นอน ส่วนปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ อาจจะเลือกใช้ความต้องการใช้ก๊าซฯ คงที่เท่ากับในปัจจุบัน (คือประมาณ 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต/ปี) หรือปริมาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามคาดการณ์ในอนาคตก็ได้ สำหรับความต้องการใช้ก๊าซฯ นั้น ปตท. ได้ประมาณว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 2,444 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2545 เป็น 3,914 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2559

ดังนั้นการคำนวณอายุการใช้งานของก๊าซฯ หากใช้ปริมาณสำรอง 1P ของทั้งแหล่งในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้นตามการพยากรณ์ของ ปตท. ซึ่งผลที่ได้จะสามารถใช้ก๊าซฯ ได้อีก 18 ปี หากใช้ปริมาณสำรอง 2P (Proved + Probable) สำหรับแหล่งในประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มขึ้นตามการประมาณการของ ปตท. จะมีก๊าซฯ ใช้ได้รวมทั้งหมดอีก 24 ปี อย่างไรก็ตามหากใช้ปริมาณ 3P ของทั้งแหล่งในประเทศ และในประเทศเพื่อนบ้าน และแม้ว่าปริมาณการใช้ก๊าซฯ ไม่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็จะมีก๊าซใช้อีก 50 ปี แต่ 3P นี้มีความไม่แน่นอนสูง

สรุปสุดท้ายค่ะ
ยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หรือ NGV ได้มีการนำมาใช้ในหลายๆ ประเทศ เกือบทั่วทุกภูมิภาคของโลก แต่อัตราการเพิ่มยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ทั้งนี้เนื่องจากยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมานานกว่า อย่างไรก็ตามรูปข้างล่างแสดงให้เห็นถึงปริมาณการค้าขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากประเทศผู้ผลิตสู่ลูกค้านานาประเทศทั่วโลกในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งพบว่ามีการใช้น้ำมันกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่การใช้ก๊าซธรรมชาตินั้นค่อนข้างจำกัดอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ทวีปยุโรปและทวีปอเมริกา

ไม่มีความคิดเห็น: